ปวดคอ ปวดหลัง รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
ปวดคอ ปวดหลัง รักษามาทุกวิธี กินยา กายภาพบำบัด ฝังเข็ม เยอะมากมาย แม้แต่การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปภายในโพรงประสาทสันหลังก็ทำมาแล้ว บรรเทาได้ในระดับหนึ่ง มีวิธีไหนช่วยได้บ้างโดยไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาโดยทำ Nucleoplasty เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกทางการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ขนาดแผลเท่าเข็มที่ใช้ในการฉีดยา หลังการทำหัตถการ ฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำงาน ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติภายในไม่กี่วันและมากสุดไม่เกินเกิน 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานหรือกิจกรรมของแต่ละคน
Nucleoplasty เป็นการรักษาโดยการจี้และปล่อยคลื่นความถี่ (Radio Frequency: RF) ช่วยสลายเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกบางส่วนให้หดตัว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดจาก หมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาด หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดใหญ่ โดยมักจะทำเป็นการผ่าตัดแบบวันเดียว (One day Surgery) นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้
เหมาะสำหรับใครบ้าง
- ผลตรวจเอ็มอาร์ไอมีหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาด
- ผลตรวจเอ็มอาร์ไอมีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
- มีอาการปวดหลังหรือปวดร้าวลงขา มีอาการปวดหลัง เรื้อรังเกิน 6 สัปดาห์ และรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด หรือฉีดยาสเตียรอยด์แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ มีข้อจำกัดในการผ่าตัด เช่น อายุเยอะ หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้การผ่าตัดใหญ่มีความเสี่ยงสูง
การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการ Nucleoplasty
ท่านจะต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อหรือศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ตรวจร่างกายและทำ MRI เพื่อประเมินระดับความเสียหายของหมอนรองกระดูกก่อน
การเตรียมตัวดังนี้
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด หากต้องใช้ยาระงับความรู้สึก
- ในกรณีที่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมสำหรับการผ่าตัดโดย อายุรแพทย์ และ/หรือ วิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และจะทำการให้ยาต่างๆเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยแข็งแรงและมีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการผ่าตัด
- หากมีโรคประจำตัว แพ้อาหารทะเลหรือสารทึบรังสี แพ้ยาชาเฉพาะที่ ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ถ้ามีการรับประทานยาต้านแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ได้แก่ aspirin, Plavix และ warfarin ที่ทำให้เลือดออกง่าย หยุดยาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนเรื่องการหยุดยาหรือปรับยาก่อนทำหัตถการ
- งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการสมานแผลและการฟื้นตัว
- นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
ขั้นตอนการทำหัตถการ Nucleoplasty
การทำหัตถการ Nucleoplasty ต้องทำในห้องผ่าตัด เพราะต้องการความสะอาด
- ผู้ป่วยจะได้รับ ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) และอาจได้รับ ยากล่อมประสาท (Sedation) เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย
- สอดเข็มเข้าไปยังหมอนรองกระดูก โดยใช้ เครื่องเอกซเรย์นำวิถี (Fluoroscopy) เพื่อช่วยนำทาง หลังจากนั้นจะแทงเข็มเข้าไปยัง ศูนย์กลางของหมอนรองกระดูกที่มีปัญหา
- ทำการใส่สายสวน (Catheter) ที่มีขนาดเล็กผ่านเข็มและปล่อยคลื่นวิทยุพลังงานต่ำ (Coblation Technology)
ให้คลื่นวิทยุจะช่วยสลายเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกบางส่วนให้หดตัว ทำให้แรงกดต่อเส้นประสาทลดลง
- เมื่อทำเสร็จแล้ว แพทย์จะถอนอุปกรณ์ออก และปิดแผลขนาดเล็กโดยไม่ต้องเย็บ
- หลังทำหัตถการ พักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อสังเกตอาการ
อาการที่อาจพบหลังทำ
• อาจรู้สึกปวดตึงที่บริเวณหลัง 1-2 วันแรก
• อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับมักจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
ข้อปฏิบัติหลังทำ
• หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือก้มเงยมากเกินไป ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
• บางรายอาจต้องทำ กายภาพบำบัด และออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยฟื้นฟู
• หลีกเลี่ยงการนั่งนานเกินไป งดการนั่ง/ยืนต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง
ข้อดีของ Nucleoplasty
1. เป็นหัตถการแบบ Minimally Invasive ฟื้นตัวเร็ว
2. ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อและการเสียเลือด
3. อาการปวดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์
4. ลดการใช้ยาแก้ปวดในระยะยาว
ข้อเสีย Nucleoplasty
- ไม่ได้ผลในทุกกรณี เหมาะกับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก หากหมอนรองกระดูกเสียหายมากอาจต้องใช้การผ่าตัดเปิดแทน
- อาจเกิดอาการปวดชั่วคราวหลังทำหัตถการ บางคนอาจมีอาการปวดหรือไม่สบายในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังทำ
- มีโอกาสที่อาการจะกลับมาเป็นซ้ำ หากไม่ดูแลร่างกายหรือเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ยกของหนักผิดท่า นั่งนานเกินไป อาจทำให้หมอนรองกระดูกกลับมากดทับเส้นประสาทอีก
- อาจมีภาวะแทรกซ้อน แม้จะเกิดขึ้นได้น้อย
- ค่าใช้จ่ายอาจสูง แต่ไม่แพงเท่าการผ่าตัดใหญ่
โอกาสเกิดอาการซ้ำหลังทำ Nucleoplasty
อัตราสำเร็จโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 80% แต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยประมาณ 20-30% ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกลับมาในช่วง 1-2 ปีหลังทำหัตถการ หากไม่มีการดูแลร่างกายที่เหมาะสม โอกาสกลับมาเป็นซ้ำจะเพิ่มขึ้น
สรุป
หัตถการ Nucleoplasty วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ยังไม่รุนแรงมาก ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ฟื้นตัวเร็ว ระยะเวลาการฟักฟื้นน้อย ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ถ้าผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาทในระดับรุนแรงมากนั้นควรรักษาโดยการผ่าตัด Endoscopic discectomy เพราะสามารถเอาหมอนรองกระดูกออกโดยตรงและมีประสิทธิภาพสูกกว่าการทำ Nucleoplasty
อัตราค่าใช้จ่ายประมาณ (ใช้ยาระงับความรู้สึก) 99,000 – 140,000 บาท
ทบทวนโดย ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา แพย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกคอและสันหลัง