กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือภาวะที่แนวกระดูกสันหลังเบี่ยงเบนจากแนวตรงเมื่อมองจากด้านหลัง มักแสดงอาการตั้งแต่วัยรุ่น และอาจเป็นเยอะขึ้นอย่างรวดเร็วขณะเด็กกำลังสูงเพิ่มขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการในช่วงเด็กก่อนวัยรุ่น หรือ ในผู้ใหญ่ที่มีกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเสื่อมหลายๆข้อ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ความไม่สมดุลของรูปร่าง หรือส่งผลต่อปอดและหัวใจหากเป็นรุนแรง
อาการของกระดูกสันหลังคด
- ไหล่สองข้างสูงไม่เท่ากัน
- กระดูกสะบักหรือสะโพกข้างใดข้างหนึ่งยื่นออก
- แนวเอวเบี้ยวหรือขาดความสมดุล
- ปวดหลังเรื้อรัง
- เมื่อยล้าหลังยืนนาน
- หายใจลำบากในบางรายที่คดมาก
- ปวดร้าวลงขา ชา อ่อนแรง กรณีที่เป็นในผู้ใหญ่
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคด
การวินิจฉัยเริ่มต้นจาก:
- การตรวจร่างกาย: แพทย์จะให้ผู้ป่วยก้มตัวและตรวจดูแนวกระดูกสันหลังว่าคดหรือไม่
- การถ่ายภาพรังสี (X-ray): เพื่อวัดองศาของการคด (Cobb angle) และประเมินแนวกระดูกทั้งหมด
- เกณฑ์วินิจฉัยกระดูกสันหลังคดที่ Cobb angle มากกว่า 10 องศา
- MRI (Magnetic Resonance Imaging): ใช้ในกรณีสงสัยมีความผิดปกติของไขสันหลังหรือเส้นประสาทร่วมด้วย
- CT Scan: ใช้ประเมินโครงสร้างกระดูกอย่างละเอียด เพื่อเตรียมการผ่าตัด
- การวิเคราะห์ความสมดุลของร่างกาย: ประเมินการเอียงของศีรษะ ไหล่ สะโพก และแนวแรงถ่วง
การวินิจฉัยอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญเพื่อวางแผนการรักษาและเลือกเทคนิคผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด
ทางเลือกในการรักษา
1. การเฝ้าระวัง (Observation)
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความคดไม่เกิน 20-25 องศา และไม่มีอาการเจ็บปวด โดยจะนัดติดตามเป็นระยะเพื่อดูว่ามีการลุกลามหรือไม่
2. การใส่เสื้อดัดหลัง (Brace)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นที่ยังไม่หยุดเจริญเติบโต และมีความคดประมาณ 20–40 องศา ใช้เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้คดเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขความคดที่มีอยู่แล้วได้ โดยเป้าหมายหลักคือเพื่อป้องกันไม่ให้มุมคดสูงขึ้นจนเข้าเกณฑ์การรักษาแบบผ่าตัด
3. การทำกายภาพบำบัด (Physical Therapy)
ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง ปรับท่าทาง และลดอาการเมื่อยล้า ใช้ร่วมกับการเฝ้าระวังหรือหลังผ่าตัดเพื่อฟื้นฟู
4. การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด (Scoliosis Surgery)
ข้อบ่งชี้:
- ความคด > 40 –45 องศา
- อาการปวดหลังเรื้อรัง
- ความผิดปกติของรูปร่างที่ชัดเจน
- ความคดที่มีแนวโน้มลุกลาม
การผ่าตัดมีเป้าหมายเพื่อปรับแนวกระดูกสันหลังให้ตรง ลดอาการเจ็บปวด และป้องกันการเสื่อมของหมอนรองกระดูกหรือเส้นประสาทในอนาคต
ในเด็กที่มุม Cobb angle เข้าเกณฑ์ผ่าตัด แต่เลือกที่จะไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้น
- ความคดอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆ ถึงแม้จะหยุดเจริญเติบโตแล้ว
- อาการปวดหลังเรื้อรัง
- ความผิดปกติของรูปร่างที่ชัดเจน
- เมื่อต้องผ่าตัดตอนอายุเยอะขึ้น อาจะทำได้ยาก ซับซ้อน และไม่สามารถแก้ไขความคดได้ทั้งหมด
เทคนิคการผ่าตัดและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มความแม่นยำและความปลอดภัย ได้แก่:
✅ การติดตามสัญญาณเส้นประสาท (Intraoperative Neuromonitoring – IONM)
ใช้เพื่อติดตามการทำงานของไขสันหลังและเส้นประสาทแบบเรียลไทม์ระหว่างผ่าตัด หากพบสัญญาณผิดปกติ ทีมศัลยแพทย์สามารถหยุดหรือปรับการผ่าตัดได้ทันที ช่วยลดความเสี่ยงของอัมพาตหรือการบาดเจ็บทางประสาท
✅ ระบบนำทางผ่าตัด (Navigation System)
คล้ายกับ GPS ในการผ่าตัดกระดูก ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถใส่สกรูยึดกระดูกได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงของสกรูทะลุออกนอกกระดูกและกระทบเส้นประสาทหรือไขสันหลัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโครงสร้างกระดูกผิดปกติ
การใช้เทคโนโลยีทั้งสองนี้ช่วยยกระดับความปลอดภัยของผู้ป่วยในระดับสูงสุด และเพิ่มความมั่นใจในการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
โดยปกติก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด
ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมสำหรับการผ่าตัดโดย อายุรแพทย์ และ/หรือ วิสัญญีแพทย์
ซึ่งจะประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบปอด หัวใจและหลอดเลือด
และจะทำการให้ยาต่างๆ เพื่อเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมสำหรับการผ่าตัด
- งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, Plavix และ warfarin เป็นต้น
- งดอาหารเสริม เช่น สมุนไพร เมล็ดแปะก๊วย โสม น้ำมันตับปลา ยาลูกกลอน อย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ และ งดการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนวันผ่าตัด
- ทำการงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดการสำลักอาหารระหว่างดมยาสลบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งก่อนการผ่าตัด
การฟื้นตัวหลังผ่าตัด
- วันแรกหลังผ่าตัด: เริ่มขยับตัวและลุกนั่งภายใต้การดูแล
- วันที่ 2–3: เริ่มฝึกเดินร่วมกับนักกายภาพบำบัด
- กลับบ้านได้ภายใน 5–7 วัน
- กลับไปทำงานเบา ๆ ได้ภายใน 1–2 เดือน
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือโยคะ ได้หลัง 3 เดือน
- กระดูกจะเชื่อมสมบูรณ์ประมาณ 6–12 เดือน