คุณมีอาการ "ปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ขาชา ขาอ่อนแรง" หรือไม่
หากการรักษาด้วยการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การปรับกิจวัตรประจำวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion)
อาจเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยให้อาการปวดของคุณดีขึ้นและช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คุณได้
การรักษาผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion)
อาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ขาชา ขาอ่อนแรง
อาจมีสาเหตุมาจากความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง
โดยในสภาวะปกติกระดูกสันหลังของคนเราจะถูกยึดด้วยข้อต่อ
หรือที่เรียกกันว่า หมอนรองกระดูกสันหลัง และเส้นเอ็นต่างๆหลายชั้น
ทำให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงและแข็งแรงสูงมาก
เพื่อปกป้องเส้นประสาทและไขสันหลังที่อยู่ภายในแกนกลางของกระดูกสันหลัง
แต่เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีการใช้งานหลังที่หักโหมเกินไป
จะทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังบาดเจ็บและเสื่อมสภาพได้
อาจทำให้เกิดสภาวะความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังขึ้น
โดยเป็นสภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังหรือตัวกระดูกสันหลังเองมีการเคลื่อนไปกดเบียดโพรงประสาทและเส้นประสาท
ในขณะที่เรามีอริยาบทต่างๆ เช่น ก้มหลังหยิบของ ลุกนั่งจากเก้าอี้ ก้มตัวยกของหนัก เป็นต้น
ซึ่งการที่โพรงประสาทตีบแคบลงและเส้นประสาทถูกกดเบียดนี้เองที่จะนำไปสู่อาการผิดปกติต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น
ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา อาการชาขา อาการเดินไกลแล้วปวดน่อง
หรือหากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่อาการขาอ่อนแรงได้
การรักษาที่เหมาะสมสำหรับภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคง (Spinal Instability)
สามารถทำได้โดยการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง
เพื่อลดการเคลื่อนไหวระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ
และป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนไปกดเบียดเส้นประสาทได้นั่นเอง
เนื่องจากกระดูกสันหลังของคนเรา เป็นโครงสร้างแกนกลางของลำตัวที่อยู่ลึก
การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่กระดูกสันหลังจะต้องมีการตัดผ่านชั้นกล้ามเนื้อบริเวณหลังหลายชั้น
ในอดีตการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังแบบเปิดแผลใหญ่
จึงมีความจำเป็นต้องตัดทำลายกล้ามเนื้อหลังเพื่อเข้าถึงกระดูกสันหลังบริเวณที่จะทำการผ่าตัดรักษา
ส่งผลให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนมีการบาดเจ็บเป็นบริเวณกว้าง
ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดพอสมควร
แต่ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง
สามารถทำผ่านอุปกรณ์ผ่าตัดชนิดพิเศษ ซึ่งช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดผ่านแผลที่เล็กลง
มีการตัดทำลายกล้ามเนื้อหลังที่น้อยลง ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ทำให้มีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ไวขึ้น
การผ่าตัดชนิดนี้ เรียกว่า Minimally Invasive Surgery Transforaminal Interbody Fusion (MIS TLIF)
ภาวะใดที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดแบบ MIS TLIF
- กระดูกสันหลังเสื่อม หรือ หมอนรองกระดูกเสื่อม
- กระดูกสันหลังเคลื่อน
- โพรงประสาทสันหลังตีบแคบ
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
การรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน
ขึ้นอยู่การหลายๆปัจจัย เช่น ความรุนแรงของโรค อายุ โรคประจำตัว กิจวัตรประจำวัน การทำงาน เป็นต้น
ผู้ป่วยควรเข้าพบและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมสำหรับการผ่าตัดโดย อายุรแพทย์ และ/หรือ วิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และจะทำการให้ยาต่างๆเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยแข็งแรงและมีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการผ่าตัด
- งดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เผื่อลดอัตราการเกิดการสำลักอาหารระหว่างดมยาสลบเพื่อผ่าตัด
- งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด/การแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, Plavix และ warfarin เป็นต้น
- งดอาหารเสริม เช่น สมุนไพร เมล็ดแปะก๊วย โสม น้ำมันตับปลา อย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
ขั้นตอนการผ่าตัด
- วิสัญญีแพทย์ทำการระงับความรู้สึกของผู้ป่วยผ่านการดมยาสลบ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่มีอาการปวดและอยู่นิ่งระหว่างที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดรักษา
- จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนคว่ำ เพื่อทำผ่าตัดบริเวณสันหลัง
- ศัลยแพทย์ทำการเจาะรูผ่านกล้ามเนื้อเพื่อทำการแก้ไขความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง และ เส้นประสาท
- แพทย์ทำการขยายโพรงประสาทโดยการตัดแต่งรูปทรงกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น และ หมอนรองกระดูกต่างๆ บริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของ อาการปวด ชา อ่อนแรง
- แพทย์ทำการปลูกถ่ายกระดูก และ อุปกรณ์ทดแทนหมอนรองกระดูกเพื่อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลัง และกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมตัวของกระดูกสันหลัง
- ศัลยแพทย์ทำการใส่สกรูโลหะเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง และ กระตุ้นการเชื่อมตัวของกระดูกสันหลัง
ทั้งนี้การผ่าตัดแบบ MIS TLIF อาจใช้เวลาการผ่าตัดนานกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่
และต้องใช้ความชำนาญและประสพการณ์ของศัลยแพทย์ เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดี
การพักฟื้นหลังผ่าตัด
- ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล: 3-4 วัน
- แผลภายนอกสมานตัว: 2 สัปดาห์
- หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และ ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ แต่มีข้อจำกัด หลังผ่าตัดช่วงแรกดังนี้
- 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
- งดการนั่ง/ยืนต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง
- การนั่งควรต้องมีพนักพิงสันหลังเสมอ
- ใส่อุปกรณ์พยุงสันหลัง (Lumbar support) ตลอด ขณะยืน/นั่ง
- งดยกของที่หนักเกิน 2 กก.
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้มหลัง
- งดการไอ จาม เบ่งหรือบิดตัวแรงๆ
- สามารถขับรถได้ประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด
- สามารถเล่นกีฬาที่ไม่มีการกระแทกเช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น ได้ที่ 2 เดือนหลังผ่าตัด
- สามารถเล่นกีฬาที่มีการกระแทก เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เป็นต้น ได้ที่ 6 เดือนหลังผ่าตัด
- แนะนำหยุดงานหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
- ระยะเวลาดังกล่าว อาจสั้น หรือ ยาวกว่าปกติได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ลักษณะการใช้งานและการทำงานของผู้ป่วย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และน้ำหนักตัว
ประมาณการค่าใช้จ่ายการผ่าตัด
หัตถการ (Procedure) : MIS TLIF 1 level
ระยะเวลานอนโรงพยาบาล : 4 วัน 3 คืน
ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ : 280,000 – 340,000
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็น
- ราคาสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ประกันสุขภาพ
- อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการตรวจสุขภาพและเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด
- ราคานี้รวมอุปกรณ์โลหะยึดกระดูก / อุปกรณ์ทดแทนหมอนรองกระดูก รุ่นมาตรฐาน แล้ว
- หากแพทย์ประเมินว่าต้องใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
- สามารถผ่าตัดที่ clinic นอกเวลา รพ. รัฐ หรือ รพ. เอกชน ได้
ระยะเวลารอคอยผ่าตัด:
- clinic นอกเวลา รพ. รัฐ: 1.5-3 เดือน
- เอกชน: ถ้าสามารถผ่าตัดได้เลย เมื่อตรวจร่างกายพร้อม
Youtube:
https://www.youtube.com/watch?v=dHghg8L8pBI
https://www.youtube.com/watch?v=ggdKG0OvL90
https://www.youtube.com/watch?v=lJ-ggDAQNLQ